บทความเกี่ยวกับ: ข่าวประชาสัมพันธ์

มาตรการส่งดี (Dee-Delivery) คุ้มครองซื้อของออนไลน์ เมื่อจ่ายผ่าน COD



“มาตรการส่งดี” กฏหมายคุ้มครองนักชอปออนไลน์ เช็กของได้ก่อนจ่าย และขอเงินคืนได้ใน 5 วัน มีผลบังคับใช้ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป



คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ภายใต้ สคบ. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง "ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567" โดยกฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้นักช็อปออนไลน์ ใช้ “มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)” ให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้า ต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งสินค้า และผู้ประกอบธุรกิจ ชื่อสกุลผู้รับเงิน พร้อมหมายเลขติดตามพัสดุ และยังกำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าถือเงินค่าสินค้าเป็นระยะเวลา 5 วันก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ขาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้า และขอเงินคืน อีกทั้งยังให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ โดยหากพบว่ามีปัญหา ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงิน และไม่รับสินค้าได้

ในส่วนของ หลักฐานการรับเงินการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางที่ผู้ประกอบธุรกิจออกให้กับผู้บริโภค ต้องใช้ข้อความที่มีสาระสำคัญ และเงื่อนไข อาทิ รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ส่งสินค้า อย่างน้อยให้ระบุชื่อ และนามสกุลของบุคคลธรรมดา หรือชื่อนิติบุคคลที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล โดยให้ระบุเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติตามสัญญา ฯโดยกำหนด 4 เงื่อนไขผู้บริโภคมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าสินค้าคืน ดังนี้

ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่สั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่องให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสินค้าคืนจากผู้บริโภคกลับไปยังผู้ส่งสินค้า และคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค
ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งแล้วเรียกเก็บเงินปลายทาง หากผู้บริโภคมีการชำระค่าสินค้าแล้ว และพิสูจน์ได้ภายหลังว่าผู้บริโภคไม่ได้สั่งซื้อสินค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสินค้าคืนจากผู้บริโภคกลับไปยังผู้ส่งสินค้า และคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค
เมื่อผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับเงินที่ชำระค่าสินค้าจากผู้บริโภคแล้วให้ถือเงินไว้ก่อนเป็นเวลา 5 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคได้รับมอบสินค้าและชำระเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะยังไม่นำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า และเมื่อพ้นกำหนด 5 วันนับแต่วันที่ได้รับชำระเงินจากผู้บริโภคแล้วปรากฎว่าผู้บริโภคไม่ได้มีการแจ้งขอเงินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า แต่ถ้าผู้บริโภคแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนต่อผู้ประกอบธุรกิจภายในกำหนดเวลา 5 วันนั้น ว่าผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ตนไม่ได้สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ตนสั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบสินค้าที่รับคืนมาจากผู้บริโภคแล้วก็ดี ถ้าปรากฎว่าสินค้านั้นเป็นไปตามเหตุที่ผู้บริโภคแจ้งมาจริง ดังนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค และส่งมอบสินค้านั้นคืนให้กับผู้ส่งสินค้า ทั้งนี้ หลักเกณฑ์นี้จะไม่นำไปใช้บังคับกับกรณีผู้บริโภคขอเงินคืนด้วยเหตุผลอื่นนอกจากเหตุดังกล่าวนั้น
ในกรณีที่ผู้บริโภครับและเปิดดูสินค้าให้กระทำต่อหน้าผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้บันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอหรือเอกสารหลักฐานอย่างอื่นไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อบุคคลทั้งสองดังกล่าวตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่าสินค้านั้นไม่ตรงตามข้อ 1 และ 2 ให้ผู้บริโภคปฏิเสธไม่รับสินค้านั้นได้ กรณีที่ผู้บริโภคไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบสภาพสินค้าในขณะรับสินค้า เมื่อได้ทำหลักฐานตามวรรคหนึ่งและส่งให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับการโต้แย้งในเวลาตามที่กำหนดในข้อ 3 ให้ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธไม่รับสินค้าและได้รับเงินค่าสินค้าคืน

ข้อมูลจาก : กรมประชาสัมพันธ์

อัปเดตเมื่อ: 03/10/2024

บทความนี้เป็นประโยชน์หรือไม่?

แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ

ยกเลิก

ขอบคุณ!